>>

พระนางแมรี่ สจ๊วต แห่ง สก๋อตแลนด์


พระนางแมรี่สจ๊วต ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ผู้งามล้ำ และนับเป็นความหวังหนึ่งแห่งศาสนจักรคาธอลิก ต้องพระราชอาญาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1587

พระนางเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมราชบิดา คือ พระเจ้าเจมส์ที่ 5 หลังจากเสด็จพระราชสมภพเพียงหกวัน เมื่อเจริญพระชนมพรรษาก็ได้ราชาภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟรังซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส และทรงร่วมกันปกครองประเทศในฐานะประมุข จนกระทั่งพระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคต จึงเสด็จนิวัติสก็อตแลนด์อันเป็นมาตุภูมิแห่งพระองค์ แต่ด้วยความอิจฉาริษยา ความเกลียดชังในหมู่พระญาติและบรรดาพระราชวงศ์ สงครามภายในจึงถึงกาลอุบัติขึ้นโดยที่พระนางแมรี่ทรงเป็นฝ่ายปราชัย และจำต้องสละราชสมบัติในที่สุด

ตลอดพระชนม์ชีพแห่งกษัตรีพระองค์นี้ ช่างมิต่างอะไรกับโศกนาฏกรรม

เมื่อครั้งที่ทรงหลบหนีออกจากราชอาณาจักรสก็อตแลนด์ พระนางแมรี่ สจ๊วตทรงคาดหวังที่จะพึ่งพาพระญาติผู้เข้มแข็งเพียงหนึ่งเดียว คือ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยที่มิทันได้เฉลียวพระทัยเลยแม้แต่น้อยถึงผลที่จะเกิดตามมา
พระนางแมรี่ผู้ไร้เดียงสา มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธตามประสาซื่อ โดยทรงเรียกขานพระบรมนามาภิไธยของสมเด็จพระราชินีว่า ‘อลิซาเบธน้องรัก’ ปานประหนึ่งพระนางยังทรงเชื่อมั่นว่าพระราชินีจะทรงให้การต้อนรับพระนางอย่างสมพระเกียรติของกษัตรีแห่งสก็อตแลนด์

แต่ทว่า สิ่งสำคัญยิ่งยวดที่พระนางอาจจะทรงหลงลืมไปก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ เป็นพระราชธิดาในกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ผู้ทรงประกาศแยกตัวจาก คริสตจักรโรมันคาธอลิก และทรงสถาปนานิกายแองกลิคันเป็นศาสนาประจำชาติของอังกฤษ ดังนั้นเหล่าคาธอลิกจึงพลอยมองสมเด็จเป็นพวกนอกรีต และขับไล่ออกจากศาสนจักร อีกทั้งพระนางแอน โบลีน พระราชมารดา ก็เคยต้องพระราชอาญาในข้อหาคบชู้สู่ชาย ‘สถานภาพการเป็นบุตรตามกฎหมาย’ ของพระนางจึงสิ้นสุดลงนับแต่นั้นด้วยเช่นกัน

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ คือ ‘บุตรนอกสมรส’ แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ

นอกจากนี้ยังเป็นที่เชื่อกันว่า ผู้มีสิทธิ์อันชอบธรรม สมควรแก่การขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษนั้นคือ พระราชธิดาผู้สืบสายพระโลหิตโดยตรงจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ผู้ผ่านพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสอย่างถูกต้องทั้งตามราชประเพณีและศาสนพิธี ซึ่งก็หมายถึงสมเด็จพระราชินีแมรี่สจ๊วต แห่งราชอาณาจักรสก็อตแลนด์นั่นเอง
ราชินีผู้บริสุทธิ์’ หรือสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธนั้นหาได้ทรงเคยเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับบุรุษใดไม่ และเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ดังนั้นหากพระนางถูกลอบปลงพระชนม์ หรือเสด็จสวรรคตด้วยสาเหตุใดๆ แล้วไซร้ ราชบัลลังก์อังกฤษย่อมต้องตกไปอยู่ในพระหัตถ์แห่งผู้มีสายพระโลหิตใกล้ชิดกับพระนางมากที่สุดและเป็นผู้มีพระเกียรติยศสูงสุดเฉกเช่นพระนางแมรี่สจ๊วตเป็นแม่นมั่น หรือมิฉะนั้น ก็คงเป็นกษัตริย์คาธอลิกพระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งหวังจะได้ดินแดนอังกฤษเป็นอาณานิคม โดยใช้การราชาภิเษกสมรสกับพระนางแมรี่เป็นทางผ่าน

“ช่างเป็นปัญหาอันใหญ่หลวงยิ่งนัก! หากปล่อยแมรี่ให้ลอยนวลอยู่เช่นนี้ สักวันเราคงจะต้องถูกลอบสังหารเป็นแน่แท้ แต่หากเราคร่าชีวิตญาติผู้พี่ที่หวังมาขอพึ่งพา ก็คงจะไม่พ้นตกเป็นที่ครหาของอาณาประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดิน แล้วเราควรจะคิดการเยี่ยงใดดีเล่า”

สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธทรงเรียกประชุมคณะราชมนตรี แล้วมีพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงแสดงความกระวนกระวายพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง

สุดท้ายแล้วพระนางก็มิอาจจะทรงยินยอมให้ผู้ใดมาคร่าเอาราชบัลลังก์แห่งอังกฤษไปได้ เมื่อเป็นดังนี้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งหวาดกลัวการแทรกแซงทางการเมืองจากภายนอกเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงลงมติให้ซ่อน ‘ตัวปัญหา’ ดังกล่าวไว้ในที่ที่คาธอลิกมิอาจล่วงล้ำเข้าไปถึง
พระพี่นางแมรี่ที่รักยิ่ง การจะรับเสด็จพระพี่นางผู้เป็นคาธอลิกเข้ามาในพระราชวังนั้น น้องจำต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาและเหล่าขุนนางเสียก่อน หากการดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยลงเมื่อใด น้องจะไปรับเสด็จพระพี่นางในทันควันหามีผัดผ่อนไม่ ขอพระพี่นางทรงโปรดอดทนรอคอยจนกว่าจะถึงเพลานั้นด้วยเถิด’

ด้วยเหตุที่ทรงหลงเชื่อพระราชหัตถเลขาที่มีแต่คำลวงฉบับนั้น พระนางแมรี่ผู้มีโลกทัศน์อันสวยงามจึงทรงเฝ้ารออยู่ในคฤหาสน์อึมครึมห่างไกลจากกรุงลอนดอน ทรงรอแล้วรอเล่า รอวันที่จะทรงได้รับอิสระภาพ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จนกระทั่งพระนางทรงตระหนักถึงการทรยศหักหลังอย่างโหดร้ายของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ

และแล้ว พระนางแมรี่สจ๊วตก็มีพระราชดำริที่จะหลบหนีออกจากอังกฤษ! แต่ทว่าแผนการดังกล่าวกลับถูกเปิดเผยเสียก่อน พระนางแมรี่ผู้น่าสงสารจึงทรงถูกควบคุมตัวแน่นหนายิ่งกว่าเดิม ในปราสาทที่ปิดทึบ

“เหตุไฉนคนอย่างเราจึงต้องมาประสบชะตากรรรมเช่นนี้ด้วย!?”

ความเจ็บปวดในครั้งนี้ทำให้พระนางแมรี่ถึงกับทรงสาบานว่าจะต้องล้างแค้นราชินีแห่งอังกฤษอย่างสาสม

ราชทูตถูกส่งไปอย่างลับๆสู่ราชอาณาจักรยิ่งใหญ่อันได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่ ‘ตะวันมิเคยลับฟ้า’ เพื่อทรงตอบรับคำขอราชาภิเษกสมรสซึ่งพระเจ้าฟิลิปเปที่ 2 (King Philip II) กษัตริย์คาธอลิกผู้เกรียงไกรแห่งสเปนได้ทรงพากเพียรออกพระโอษฐ์แก่พระนางเรื่อยมานับแต่ครั้งอดีต

‘ขอทรงโปรดเมตตาพระราชทานความช่วยเหลือให้เกล้ากระหม่อมฉันได้หลุดพ้นไปจากคุกมืดนี้เสียทีเถิด และหากพระองค์ทรงหลั่งเลือดนางจิ้งจอกขนแดงนั่นเป็นของขวัญแก่เกล้ากระหม่อมฉันในวันราชาภิเษกสมรสได้แล้วไซร้ ทุกสิ่งทุกอย่างของแมรี่ สจ๊วตผู้นี้ ก็จะตกสู่พระหัตถ์แห่งพระองค์ในบัดเดี๋ยวนั้น’

การตัดสินพระทัยของพระนางแมรี่สร้างความโสมนัสแก่กษัตริย์ฟิลิปเป อย่างยิ่งยวด

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การาชาภิเษกสมรสก็เป็นวิธีขยายอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจได้อีกวิธีหนึ่งโดยไม่ต้องสูญเสียกำลังคนและกำลังทรัพย์เช่นการทำศึกสงคราม
ฐานะทางการเงินที่ติดลบ อันเนื่องมาจากการศึกในรัชสมัยของพระราชบิดาทำให้กิจการต่างๆ ของกองทัพสเปนติดขัดไม่ราบรื่น ถึงจะมีทรัพยากรและทองคำไหลมาเทมาจากดินแดนอาณานิคม แต่ความขัดสนนั้นก็หาได้บรรเทาเบาบางลงไม่ แม้กระนั้น สงครามก็ไม่อาจยุติ ด้วยเป็นพระราชปรารถนาอันสูงสุดแห่งจอมกษัตริย์ ที่จะทรงแผ่ขยายทั้งดินแดนและพระราชอำนาจ ให้เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ มิผิดแผกไปจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเคยปฏิบัติ

“กำจัดอลิซาเบธเสีย!! แล้วเราจะได้สมรสกับสตรีนามว่าแมรี่อีกครั้งหนึ่ง พวกนอกรีตที่แพร่กระจายอยู่ทั่วอังกฤษจะต้องตกนรกหมกไหม้ด้วยไฟโลกันต์”

กษัตริย์ฟิลิปเปที่ 2 เคยราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีแมรี่ที่ 1 ผู้เป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีร่วมพระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 แต่หลังจากที่พระนางแมรี่พระองค์นั้นเสด็จสวรรคต ผู้ที่มีฐานะเป็นเพียงพระราชสวามีเช่นกษัตริย์ฟิลิปเปจึงทรงต้องจำยอมปล่อยพระราชอำนาจในการปกครองอังกฤษให้แก่พระนางอลิซาเบธไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เนื่องจากทรงถูกสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ปฏิเสธการขอราชาภิเษกสมรส นั่นยิ่งเป็นชนวนให้บังเกิดความเคืองแค้นแสนพยาบาทในพระราชหฤทัยเรื่อยมา

วางกลอุบายก็แล้ว ลงมือก็แล้ว แต่ก็ถูกจับได้เสียทุกครั้งไป

มือลอบสังหารคนแล้วคนเล่าที่สเปนส่งเข้ามาถูกจับและลงโทษ เนื่องจากฝ่ายอังกฤษมีผู้รับผิดชอบดูแลการสืบหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามที่มีฝีมือฉกาจอย่างเซอร์ฟรานซิส วอลซิงแฮม เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นประดุจพระหัตถ์ขวาขององค์ราชินี ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเปิดโปงว่า พระนางแมรี่สจ๊วต ทรงมีส่วนรู้เห็นกับการพยายามลอบปลงพระชนม์ทุกครั้ง

“แม้ขณะนี้เราจะจัดการกับทุกสิ่งได้สำเร็จเรียบร้อยดี แต่ ‘สมมติว่า’ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเล่า จะทำอย่างไร... หากคำนึงถึงพระชนม์ชีพและความสงบร่มเย็นของราชอาณาจักรแล้วไซร้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเราจำเป็นต้องกำจัดพระนางแมรี่เสียแต่บัดเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าข้า”

หามีพระราชกระแสโต้แย้งใดๆ จากองค์สมเด็จไม่ หากแต่สตรีผู้มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเช่นพระนาง เพื่อรักษาพระเกียรติยศแล้ว จึงทรงแสร้งทำเป็นลังเล ให้ผู้คนเห็นว่าที่พระนางตัดสินพระทัยกระทำการลงไปทั้งหมดนั้น เป็นเพราะมิอาจขัดประสงค์ของสภาผู้แทนราษฎรได้ ท้ายที่สุด พระนางก็ทรงลงพระบรมนามาภิไธยให้ดำเนินการประหารพระนางแมรี่สจ๊วต

และเพื่อมิให้ถูกประชาชนประนามว่า ‘ฆ่าได้กระทั่งญาติร่วมสายโลหิต’ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ถือคำสั่งประหารฉบับนั้นจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ในหอคอยลอนดอนเช่นกัน

กษัตริย์ฟิลิปเปที่ 2 ทรงยื่นคำขู่ไปยังสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ฝ่ายอังกฤษเกิดความลังเลที่จะลงมือกระทำการใดๆ โดยทันที และในระหว่างที่ยังตัดสินใจทำอะไรไม่ได้นั้น ทหารหาญของพระองค์ก็น่าจะช่วยเหลือพระนางแม่รี่ออกมาได้

แต่ทว่า การควบคุมเข้มงวดและแน่นหนาเกินไป จนแล้วจนรอดก็ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงล้ำเข้าไปใกล้องค์ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ได้เลยแม้แต่คนเดียว
และแล้ว ในเช้าที่หนาวเหน็บของเดือนกุมภาพันธ์ สมเด็จพระราชินีแมรี่ สจ๊วต แห่งสก็อตแลนด์ ก็ต้องพระราชอาญาประหารชีวิต โดยมีคณะราชมนตรีของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธคอยสอดส่องดูแลอยู่ไม่ห่าง

เพื่อเบนความสนใจของประชาชน ในวันเดียวกันนั้นเอง อังกฤษจึงจัดให้มีพิธีศพซึ่งราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ เป็นเกียรติแก่ฟิลิป ซิดนีย์ (Philip Sydney) วีรบุรุษผู้พลีชีพในการสับประยุทธกับกองกำลังสเปนและฮอลันดา

เรียกได้ว่าพระนางอลิซาเบธทรงหมิ่นพระเกียรติของพระนางแมรี่จนถึงวินาทีสุดท้ายเลยทีเดียว

“เราคงจะได้ตายอย่างสมเกียรติแห่งกษัตรีที่ภาคภูมิ สมเกียรติแห่งชาวคาธอลิกผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาแล้วสินะ”

ราชินีแห่งสก็อตแลนด์มีพระราชดำรัสกับบรรดาข้าหลวงผู้ยอมทนทุกข์ทรมานอยู่เคียงข้างพระนางมาเป็นเวลาหลายปี
อาจเพราะความพระทัยแข็งเช่นนี้ของพระนางแมรี่ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รบกวนพระอารมณ์ของพระนางอลิซาเบธให้ทรงหงุดหงิดยิ่งนัก เพชฌฆาตที่ใช้ในการประหารจึงเป็นพวกไร้ฝีมือ ทำให้ต้องลงขวานผ่านพิธีล้างบาปถึงสามครั้ง
แม้กระนั้น สมเด็จพระราชินีแมรี่สจ๊วต ก็เสด็จสวรรคตอย่างเด็ดเดี่ยวโดยมิได้ทรงร้องอุทธรณ์หรือแสดงความเจ็บปวดอย่างที่น่าจะเป็น
ในกาลนั้น วาติกัน สเปน ฝรั่งเศส และบรรดาประเทศคาธอลิกทั้งหลายทั้งปวงต่างก็ตีระฆังเพื่อร่วมไว้อาลัยแด่พระนางผู้สละพระชนม์ชีพบูชาพระศาสนา

นี่ก็คือเรื่องราวของ พระราชินีแมรี่สจ๊วต แห่ง สก็อตแลนด์

เครดิตเรื่อง ** http://www.i-moo.com/
เครดิตภาพ ** Elezabeth ** The Golden Age

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น